ขอใบอนุญาตทำงาน / Workpermit

ใบอนุญาตทำงานในไทย (WORK PERMIT)
การขอรับใบอนุญาตทำงาน
– คนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานต้องมีวีซ่า NON – IMMIGRANT – B โดยคนต่างด้าวต้องให้นายจ้าง/สถานประกอบการจัดเตรียมและส่งสัญญาจ้างพร้อมเอกสารการดำเนินงานธุรกิจของสถานประกอบการนำไปยื่นต่อสถานทูตไทยในประเทศนั้น ๆ พิจารณาออกวีซ่า NON – IMMIGRANT – B โดยเมื่อคนต่างด้าวได้รับวีซ่านั้นแล้ว จึงเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานตามแบบคำขอ “ตท.1”

– หากสถานทูตไทยในประเทศนั้นพิจารณาเอกสารการดำเนินธุรกิจและสถานะทางการเงินของนายจ้าง/สถานประกอบการแล้วเห็นว่ายังไม่เพียงพอต่อการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงาน ทำให้ต้องการหนังสือจากกระทรวงแรงงานต่อไปอีก จึงให้นายจ้าง/สถานประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวตามแบบคำขอ “ตท.3” เมื่อนายจ้าง/สถานประกอบการได้รับหนังสือแจ้งการพิจารณาอนุญาตทำงานแล้ว ต้องจัดส่งหนังสือดังกล่าวพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้คนต่างด้าวนำไปยื่นขอวีซ่า NON – IMMIGRANT – B ณ สถานทูตไทยในประเทศนั้น หลังจากนั้นคนต่างด้าวจึงเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรภายใน 30 วันนับจากวันที่รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอนุญาต เพื่อยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานพร้อมเอกสารตามที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งผล

ทั้งนี้ กรณีคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้ว ให้ยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานตามแบบคำขอ “ตท.1” โดยไม่ต้องดำเนินการขอวีซ่า NON – IMMIGRANT – B

คนต่างด้าวต้องไม่เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามเงื่อนไข ดังนี้
– มีความรู้และความสามารถในการทำงานตามที่ขออนุญาต

– ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

– ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3

– ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

คนต่างด้าวต้องไม่ขอทำงานตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 จำนวน 39 อาชีพ
3.1) งานกรรมกร

3.2) งานกสิกรรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญ งานเฉพาะสาขา หรืองานงานควบคุมดูแลฟาร์ม

3.3) งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น

3.4) งานแกะสลักไม้

3.5) งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ

3.6) งานขายของหน้าร้าน

3.7) งานขายทอดตลาด

3.8) งานควบคุม ตรวจสอบหรือให้บริการบัญชี ยกเว้น งานตรวจสอบภายในชั่วคราว

3.9) งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย

3.10) งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย

3.11) งานทอผ้าด้วยมือ

3.12) งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่

3.13) งานทำกระดาษสาด้วยมือ

3.14) งานทำเครื่องเขิน

3.15) งานทำเครื่องดนตรีไทย

3.16) งานทำเครื่องถม

3.17) งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก

3.18) งานทำเครื่องลงหิน

3.19) งานทำตุ๊กตาไทย

3.20) งานทำที่นอนผ้าห่มนวม

3.21) งานทำบาตร

3.22) งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ

3.23) งานทำพระพุทธรูป

3.24) งานทำมีด

3.25) งานทำร่มด้วยกระดาษหรือผ้า

3.26) งานทำรองเท้า

3.27) งานทำหมวก

3.28) งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้น งานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ

3.29) งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการ ทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ไม่รวมที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ

3.30) งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบเขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ

3.31) งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย

3.32) งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา

3.33) งานมวนบุหรี่ด้วยมือ

3.34) งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว

3.35) งานเร่ขายสินค้า

3.36) งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ

3.37) งานสาวและบิดเกลียวไหมด้วยมือ

3.38) งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ

3.39) งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี

*หมายเหตุ ตามมติคณะรัฐมนตรี ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา)

ทำงานได้ 2 อาชีพ คือ 1. งานกรรมกร และ 2. งานบ้าน

หลักเกณฑ์การพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานให้คนต่างด้าว โดยคำนึงถึง
– ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรด้านการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจและสังคม

– โอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย และความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

(ตัวอย่างเช่น คนต่างด้าว 1 คนต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน)

– ประโยชน์จากการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในตำแหน่งงานนั้น เช่น การนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุนหรือใช้จ่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก การจ้างงานคนไทยจำนวนมาก หรือการพัฒนาทักษะฝีมือคนไทยซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน

การกำหนดจำนวนการพิจารณาออกใบอนุญาตทำงาน
5.1) นายจ้างที่มีขนาดการลงทุนจากทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท หรือจดทะเบียนนิติบุคคลในต่างประเทศนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ออกใบอนุญาตทำงานให้ 1 คน และให้เพิ่มขึ้นหนึ่งคนต่อขนาดการลงทุนทุก 2 หรือ 3 ล้านบาท เว้นแต่คนต่างด้าวมีคู่สมรสเป็นคนไทยซึ่งจดทะเบียนสมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย ขนาดของการลงทุนลดลงกึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ไม่เกิน 10 คน หรือ

5.2) การออกใบอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานกับนายจ้าง/สถานประกอบการดังต่อไปนี้ จำนวนของการออกใบอนุญาตทำงานเป็นไปตามความจำเป็นและเหมาะสม

– ดำเนินธุรกิจส่งออกสินค้าไปต่างประเทศและนำเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศไม่น้อยกว่าสามสิบล้านบาทขึ้นไปในปีที่ผ่านมา หรือ

– ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งนำชาวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไม่น้อยกว่าห้าพันคนในรอบปีที่ผ่านมา หรือ

– สถานประกอบการมีการจ้างงานคนไทยไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน หรือ

– เป็นงานที่ใช้เทคโนโลยีซึ่งคนไทยทำไม่ได้หรือใช้ความรู้ความชำนาญเฉพาะทางเพื่อให้งานสำเร็จภายใต้โครงการที่มีระยะเวลาแน่นอน หรือ

– สถานประกอบการชำระภาษีเงินได้ให้แก่รัฐในรอบปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า ๓ ล้านบาท หรือ

– หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน หรือคนต่างด้าวตามที่มีหนังสือรับรองจากหน่วยงานดังกล่าว หรือ

– สถาบันการศึกษาของเอกชน ซึ่งมีหนังสือแต่งตั้งให้เป็นครู/ผู้สอน/บุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือ

– มูลนิธิ สมาคม หรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม หรือ

– กิจการบันเทิง มหรสพ ดนตรี ซึ่งมีลักษณะการจ้างงานเป็นครั้งคราวมีระยะเวลากำหนดไว้แน่นอน หรือ

– อื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมการจัดหางานว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2552

อายุของใบอนุญาตทำงาน พิจารณาอนุญาตให้ตามความจำเป็นของงานหรือตามที่ขอ ทั้งนี้ไม่เกิน 2 ปี/ครั้ง
การต่ออายุใบอนุญาตทำงาน คนต่างด้าวผู้รับใบอนุญาตทำงาน หากประสงค์จะทำงานนั้นต่อไป ต้องไปขอต่ออายุวีซ่าจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก่อน แล้วจึงให้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานตามแบบคำขอ “ตท.5” โดยต้องยื่นแบบคำขอก่อนสิ้นอายุการอนุญาต ทั้งนี้ “ใบอนุญาตทำงานที่สิ้นอายุแล้วไม่สามารถต่ออายุได้”
การเปลี่ยนหรือเพิ่ม การทำงาน สถานที่ และท้องที่ในการทำงาน คนต่างด้าวผู้ถือใบอนุญาตทำงานที่ยังคงทำงานกับนายจ้าง/สถานประกอบการที่อนุญาตไว้เดิม หากมีความประสงค์ดังกล่าว ยื่นขออนุญาตตามแบบคำขอ “ตท.6”
การเปลี่ยนนายจ้าง/สถานประกอบการ คนต่างด้าวต้องไปติดต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อลงตรา VISA พ้นหน้าที่เดิมและขออยู่ต่อในราชอาณาจักรอีก 7 วัน หรือเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปขอ Non – Immigrant VISA ใหม่จากสถานทูตไทย แล้วจึงยื่นขอใบอนุญาตทำงานใหม่ ตามแบบคำขอ “ตท.1” เพื่อทำงานกับนายจ้าง/สถานประกอบการใหม่ก่อน VISA หมดอายุ
คนต่างด้าวผู้ถือใบอนุญาตทำงานประสงค์จะมีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ – นามสกุล สัญชาติ ลายมือชื่อ การย้ายที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ชื่อสถานประกอบการ รายละเอียดของสถานประกอบการตามประกาศของทางราชการ และการเปลี่ยนหรือเพิ่มประเภทธุรกิจ ให้ยื่น “คำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในใบอนุญาต”
กรณีใบอนุญาตทำงานเดิมชำรุดในสาระสำคัญ หรือ สูญหาย ให้ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตทำงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบการชำรุดหรือสูญหาย ยื่นตามแบบคำขอ “ตท.4”
การขอยกเลิกการอนุญาตทำงาน กรณีคนต่างด้าวผู้ถือใบอนุญาตทำงานลาออกจากงาน หรือนายจ้างให้ คนต่างด้าวนั้นออกจากงาน และหากมีความประสงค์จะแจ้งให้นายทะเบียนทราบ ยื่นแจ้งตามแบบ “ใบแจ้งยกเลิกการอนุญาตทำงาน” ภายหลังจากคนต่างด้าวออกจากงานแล้ว โดยไม่มีบทลงโทษหรือกำหนดระยะเวลาการแจ้ง
การแจ้งการเข้ามาทำงานอันจำเป็นและเร่งด่วน กรณีคนต่างด้าวที่พำนักอยู่นอกราชอาณาจักรมีความจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาเพื่อทำงานอันจำเป็นและเร่งด่วน โดยมีระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 15 วัน ให้ยื่นแจ้งตามแบบคำขอ “ตท.10” ทั้งนี้ “งานที่เข้ามาทำนั้นต้องมีลักษณะเป็นงานอันจำเป็นและเร่งด่วนถึงขนาด ซึ่งถ้าไม่รีบทำงานดังกล่าวแล้วน่าจะเกิดความเสียหายขึ้น โดยไม่มีกำหนดการณ์ล่วงหน้า และมีระยะเวลาในการทำงานแล้วเสร็จได้ภายใน 15 วัน” หมายเหตุ ไม่มีการต่ออายุให้อีก
สถานที่ติดต่อยื่นคำขอ ให้ดำเนินการ ณ ท้องที่อันเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานของผู้ยื่นคำขอ ดังนี้
– กรุงเทพมหานคร ติดต่อ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ชั้น 2 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400

– ในส่วนภูมิภาค/ต่างจังหวัด ติดต่อ สำนักงานจัดหางานจังหวัดตามที่สถานประกอบการตั้งอยู่

อัตราค่าธรรมเนียม
(1) การยื่นคำขอฉบับละ 100 บาท

(2) ใบอนุญาต

(ก) ใบอนุญาตที่มีอายุไม่เกินสามเดือนฉบับละ 750 บาท

(ข) ใบอนุญาตที่มีอายุเกินสามเดือนแต่ไม่เกินหกเดือน ฉบับละ 1,500 บาท

(ค) ใบอนุญาตที่มีอายุเกินหกเดือนแต่ไม่เกินหนึ่งปี ฉบับละ 3,000 บาท

(3) การต่ออายุใบอนุญาตหรือการขยายระยะเวลาการทำงาน

(ก) การต่ออายุใบอนุญาตหรือการขยายระยะเวลาการทำงานไม่เกินสามเดือน ครั้งละ 750 บาท

(ข) การต่ออายุใบอนุญาตหรือการขยายระยะเวลาการทำงานเกินสามเดือนแต่ไม่เกินหกเดือน ครั้งละ 1,500 บาท

(ค) การต่ออายุใบอนุญาตหรือการขยายระยะเวลาการทำงานเกินหกเดือนแต่ไม่เกินหนึ่งปี  ครั้งละ 3,000 บาท

(4) ใบแทนใบอนุญาต  ฉบับละ 500 บาท

(5) การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มลักษณะงาน ครั้งละ 1,000 บาท

(6) การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มนายจ้าง ครั้งละ 3,000 บาท

(7) การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มท้องที่หรือสถานที่ทำงาน ครั้งละ 1,000 บาท

(8) การอนุญาตให้เปลี่ยนหรือเพิ่มเงื่อนไขในการอนุญาต ครั้งละ 150 บาท

ข้อจำกัดในใบอนุญาตทำงาน
– คนต่างด้าวต้องเก็บใบอนุญาตทำงานไว้กับตัวเองหรือที่ทำงานในระหว่างเวลาทำงาน

– ในกรณีที่แรงงานต่างชาติเปลี่ยนนายจ้าง ต้องแจ้งสำนักตรวจคนเข้าเมืองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวและขอให้อยู่ต่อในประเทศไทยกับนายจ้างคนใหม่หรือคนงานต่างชาติต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพื่อยื่นขอวีซ่าชั่วคราวประเภทใหม่จากสถานทูตไทยในต่างประเทศ หลังจากเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วให้ยื่นขอใบอนุญาตทำงานใหม่ (แบบฟอร์ม WP.1) ก่อนวันหมดอายุวีซ่า

– คนต่างด้าวต้องทำงานในงานที่ได้รับอนุญาตในใบอนุญาตทำงาน หากผู้ถือต้องทำงานให้กับงานหรือสถานที่อื่นหรือสถานที่ทำงานผู้ถือต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก่อนทำงาน ใครก็ตามที่ละเมิดกฎหมายจะถูกจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งสองอย่าง

– ใบอนุญาตทำงานจะต้องขยายออกก่อนที่จะหมดอายุ ใบอนุญาตหมดอายุไม่สามารถขยายได้

– การเปลี่ยนชื่อนามสกุลสัญชาติและที่อยู่ของผู้สมัครหรือชื่อ บริษัท / องค์กรจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนทันที

– นายจ้างไม่ได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือว่าจ้างให้ทำงานที่ลักษณะงานหรือสภาพงานนั้นแตกต่างจากรายละเอียดงานหรือเงื่อนไขที่ระบุในใบอนุญาตทำงาน ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ข้อกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำที่กำหนดโดยกฎการเข้าเมือง
– ประเทศในทวีปยุโรป (ยกเว้นรัสเซีย) และออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา 50,000 บาท/เดือน

– ประเทศเกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไต้หวัน และฮ่องกง  45,000 บาท/เดือน

– ประเทศในทวีปเอเซีย (ยกเว้นญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์,ไต้หวัน, ฮ่องกง, กัมพูชา, พม่า, ลาว และเวียดนาม) และทวีปอเมริกาใต้, ประเทศในเขตยุโรปตะวันออก, ประเทศในเขตอเมริกากลาง, เม็กซิโก, ตุรกี, รัสเซีย และแอฟริกาใต้ 35,000 บาท/เดือน

– ประเทศในแอฟริกา (ยกเว้นแอฟริกาใต้), กัมพูชา, พม่า, ลาว และเวียดนาม  25,000 บาท/เดือน


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้